ผลไม้ภาคตะวันออกทะลัก 1.3 ล้านตัน เกษตรคุมเข้มส่งออกทุเรียนไปจีน

ผลไม้ภาคตะวันออกทะลัก 1.3 ล้านตัน เกษตรคุมเข้มส่งออกทุเรียนไปจีน

รองปลัดฯ สุรเดชลงพื้นที่ จันทบุรี-ตราด ติดตามการควบคุมคุณภาพทุเรียนผลสดส่งออก รับมือผลผลิตออกสู่ตลาด มี.ค. 66 กว่า 1.3 ล้านตัน

วันที่ 1 มีนาคม 2566 นายสุรเดช สมิเปรม รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับมอบหมายจากนายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจราชการตามนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พร้อมด้วยนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เพื่อติดตามการควบคุมคุณภาพทุเรียนผลสดสำหรับส่งออกและบริโภคในประเทศ

โดยได้ประชุมร่วมกับผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุผลไม้ภาคตะวันออก ฤดูกาลผลิต ปี 2566 และนายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เป็นประธานร่วม จัดเพื่อสร้างการรับรู้และชี้แจงแนวทางการดำเนินการต่าง ๆ ก่อนเข้าสู่ฤดูกาลผลิตผลไม้ในเขตพื้นที่ภาคตะวันออก และหารือถึงประเด็นปัญหาอุปสรรคการดำเนินงานในพื้นที่อีกด้วย

ทั้งนี้ จังหวัดจันทบุรี ระยอง และตราด มีการปลูกไม้ผลส่งออกที่สําคัญ 3 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด และลำไย พื้นที่รวมกว่า 7 แสนไร่ คาดการณ์ว่าปีนี้จะมีผลผลิตส่งออกประมาณ 1.3 ล้านตัน ทำรายได้เข้าประเทศเป็นมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท

“ในส่วนของลำไยอยู่ในช่วงปลายฤดูเก็บเกี่ยว ทุเรียนและมังคุด ผลผลิตจะออกสู่ตลาดตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ และมากที่สุดในช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน โดยผลผลิตเกือบทั้งหมดจะส่งออกไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งเป็นตลาดหลัก กระทรวงให้ความสำคัญด้านคุณภาพของผลผลิต โดยเฉพาะนโยบายการผลิตทุเรียนคุณภาพเพื่อส่งออก สร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้า ”

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีโรงงานผลิตสินค้าพืชหรือโรงคัดบรรจุผลไม้ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร รวม1,932 โรง อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออก 768 โรง ตั้งอยู่ในจังหวัดจันทบุรี 698 โรง

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้ประชุมเตรียมความพร้อมรับมือ โดยบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างกรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) จัดกำลังเจ้าหน้าที่ทำหน้าที่เป็นสารวัตรตรวจสอบคุณภาพทุเรียนในโรงคัดบรรจุผลไม้ในพื้นที่จันทบุรี ระยอง ตราด โดย กระทรวงเกษตรฯ จะอำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกรและภาคเอกชน เพื่อให้คุณภาพของผลผลิตทุเรียนที่จะส่งออกมีคุณภาพได้มาตรฐาน

สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ได้ติดตามการปฏิบัติงานตามขั้นตอนมาตรการควบคุมคุณภาพทุเรียน ตั้งแต่ขั้นตอนการตรวจก่อนตัด – หลังตัด และการตั้งด่านคัดกรอง และจะรายงานต่อปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อรับทราบต่อไป

ผลไม้ภาคตะวันออก

สำหรับการควบคุมคุณภาพทุเรียนสำหรับส่งออกและบริโภคภายในประเทศ ของจังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราดนั้น ได้ดำเนินการอย่างเข้มข้นตามประกาศจังหวัด โดยมีขั้นตอน ดังนี้ 1. การควบคุมคุณภาพที่แหล่งผลิต (สวน) โดยการตรวจ GAP ที่แปลงปลูก การตรวจก่อนตัดโดยเกษตรกรต้องนำตัวอย่างทุเรียนจากแปลงที่จะเก็บเกี่ยวมาที่จุดบริการตรวจก่อนตัด ซึ่งมีให้บริการทั้งในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน ณ จุดที่จังหวัดกำหนด ก่อนการเก็บเกี่ยว 3 วัน เพื่อตรวจหาเปอร์เซ็นน้ำหนักแห้งของเนื้อทุเรียน

2. การควบคุมคุณภาพผลผลิตที่ตลาดส่งออก (โรงคัดบรรจุ) โดยสุ่มตรวจผลผลิตทุเรียน ณ โรงคัดบรรจุผลไม้ และออกใบรับรองความอ่อนแก่ของทุเรียนเพื่อยืนยันคุณภาพของผลผลิตทุเรียนที่จะ ส่งออกและใช้เป็นเอกสารประกอบสําหรับให้นายด่านพืชพิจารณาก่อนปิดตู้ส่งออก นอกจากนี้ ยังขอให้ผู้ประกอบการมาขึ้นทะเบียนมือตัดและอบรมมือตัด เพื่อควบคุมคุณภาพทุเรียน และ

3. การเพิ่มความเข้มข้นโดยตั้งด่านตรวจคัดกรองเอกสารแหล่งผลิตทุเรียน มือตัด และล้งที่จะนำส่ง ก่อนส่งต่อไปยังตลาดต่างประเทศและในประเทศ

นอกจากนี้ยังได้ติดตามขั้นตอนการดำเนินมาตรการตรวจก่อนตัด โดยการสุ่มตรวจผลผลิต การตรวจเปอร์เซ็นต์น้ําหนักแห้งในเนื้อทุเรียน ณ โรงคัดบรรจุผลไม้เจ๊แหม่ม (ล้ง) และจุดบริการตรวจก่อนตัด ณ สำนักงานเกษตรอำเภอขลุง จ.จันทบุรี

และได้พบกับผู้เข้าร่วมอบรมโครงการฝึกอบรมแรงงานเทคนิคการตัดและคัดแยกผลทุเรียนเบื้องต้น รุ่นที่ 1 ณ ห้องฝึกอบรม สำนักงานเกษตรจังหวัดตราด อ.เมือง จ.ตราด ก่อนเดินทางไปเยี่ยมชมสวนทุเรียนของเกษตกร (นางวิรัตน์ อินทสุวรรณ) ต.ห้วงน้ำขาว อ.เมือง จ.ตราด และตรวจเยี่ยมการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานระดับจังหวัด ณ จุดคัดกรองทุเรียนจังหวัดตราด